สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เรื่องมักเข้าใจผิดในดาราศาสตร์

ดาวฤกษ์อายุมากสีแดง ดาวฤกษ์อายุน้อยสีฟ้า

ไม่เสมอไป

เมื่อเราแหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้า จะเห็นว่าดาวฤกษ์แต่ละดวงมีสีสันแตกต่างกัน มีตั้งแต่สีแดง ส้ม เหลือง ขาว และสีฟ้า สีของดวงดาวบ่งบอกสมบัติทางกายภาพ สี เป็นสมบัติพื้นฐานที่สำคัญมากที่นักดาราศาสตร์ใช้ศึกษาวัตถุบนท้องฟ้า การศึกษาองค์ประกอบของสีและแสง ช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้รับรู้ถึงองค์ประกอบทางเคมี และอุณหภูมิของวัตถุนั้นได้ เรียกว่าวิชาสเปกโทรสโกปี

สิ่งที่เราทราบได้ทันทีจากสีของดาวฤกษ์คือ อุณหภูมิพื้นผิวของดาว สีของดาวฤกษ์สัมพันธ์กับอุณหภูมิจากร้อนน้อยที่สุดไปร้อนมากที่สุดดังนี้ แดง ส้ม เหลือง ขาว ฟ้า นั่นคือ ดาวสีแดงร้อนน้อยที่สุด ดาวสีฟ้าร้อนมากที่สุด

โดยทั่วไป ดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าก็จะร้อนมากกว่าดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อยกว่า

แต่ดาวฤกษ์ที่มีมวลมากมักมีอายุขัยสั้น ส่วนดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อยกว่าจะมีอายุขัยยืนยาวกว่ามาก ดาวฤกษ์มวลสูงอาจส่องแสงได้เพียงไม่กี่ร้อยล้านปีก็ระเบิดดับสูญไป ส่วนดาวฤกษ์มวลต่ำอาจส่องแสงได้นานหลายหมื่นล้านปีหรืออาจนานถึงเป็นแสนล้านปี 

ดาวฤกษ์ในกระจุกดาวเอ็นจีซี 6397 เป็นดาวอายุมากทั้งหมด แต่มีหลายดวงที่เป็นสีน้ำเงิน (จาก ESA/Hubble)  


ดังนั้น หากเรามองเห็นดาวสีฟ้าหรือสีขาว อาจพอจะอนุมานได้ว่า ดาวดวงนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ไม่นาน 
แต่ดาวสีน้ำเงินบางดวงก็มีอายุมากอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นในกระจุกดาวทรงกลม ซึ่งเป็นกลุ่มของดาวที่มีต้นกำเนิดเดียวกันอายุเท่ากันเกาะกลุ่มกันอยู่เป็นกระจุกจนเหมือนปุยทรงกลม กระจุกดาวทรงกลมเป็นวัตถุดึกดำบรรพ์ มีอายุมาก ดาวในกระจุกก็มีอายุมาก แต่กลับพบว่ามีดาวสีน้ำเงินอยู่ในกระจุกดาวทรงกลมด้วย 

หากมองเห็นดาวสีแดง ก็อย่าเพิ่งทึกทักไปว่าเป็นดาวอายุมาก เพราะดาวฤกษ์มวลต่ำเป็นสีแดงมาตั้งแต่เกิด ดาวมวลต่ำที่มีอายุแค่ร้อยล้านปีก็มีสีแดงไม่ต่างจากดาวมวลต่ำที่มีอายุหมื่นล้านปี เราไม่อาจบอกได้ว่าดาวสีแดงที่เห็นอยู่นี้เป็นดาวอายุมากหรือน้อยโดยดูเพียงสีอย่างเดียว

สรุปว่า สีของดาวไม่อาจใช้เป็นตัวชี้วัดอายุดาว ดาวอายุน้อยก็อาจมีสีแดงได้ ดาวอายุมากก็อาจมีสีน้ำเงินได้เหมือนกัน


วิมุติ วสะหลาย wimut@hotmail.com

หัวข้อ